WORK HARD,TRAVEL HARDER เทรนด์ของคนทำงานรุ่นใหม่ที่น่าจับตา
เรื่อง HAPPYNIZM
อะไรคืออุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุด 3 อย่างที่คุณต้องใช้ในการทำงาน? คอมพิวเตอร์ ปลั๊กไฟ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง น่าจะเป็นคำตอบของคนทำงานครึ่งหนึ่งในยุคสมัยนี้ ใช่แล้ว เรากำลังอยู่ในยุคที่ทำหลายๆ สิ่งบนหน้าจอ ติดต่อกันด้วยตัวหนังสือมากกว่ายกหู และปิดงานกันได้โดยไม่ต้องนั่งข้างๆ กันเสียด้วยซ้ำ
20 ปีที่แล้ว Tsugio Makimoto ผู้บริหารของฮิตาชิเคยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ ‘Digital Nomad’ ว่า “ในอนาคตข้างหน้า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอุปกรณ์แบบพกพา จะทำให้การทำงานไม่ติดอยู่กับสถานที่อีกต่อไป” 10 ปีต่อมา หนังสือเรื่อง The 4-Hour Workweek: Escape 9-5, Live Anywhere, and Join the New Rich ของ Tim Ferris ก็ได้เน้นย้ำความคิดนี้ ด้วยประเด็นของการให้เงินทำงานให้เรา และการที่เราได้ทำงานไปพร้อมกับท่องโลก ตอนที่ทั้งสองเสนอไอเดียการทำงานจากทางไกล (remote work) นั้น ยังไม่มีโซเชียลมีเดียทรงพลัง แอพฯ ปังๆ บนมือถือ หรือว่าแนวคิด sharing economy เสียด้วยซ้ำ
ยิ่งตอนนี้ ทุกอย่างยิ่งสนับสนุนวิธีการทำงานที่เอื้อต่อการขยับเคลื่อนที่ ทำให้หลายคนเลือกใช้ชีวิตแบบ ‘Digital Nomad’ มาก
ขึ้น ซึ่งหมายถึงการที่เราสามารถเคลื่อนย้ายงานไปตามสถานที่ที่ตนเองอยู่ได้ และส่งผลให้เกิดความรื่นรมย์ที่ตามมา นั่นก็คือการเที่ยวไปทำงานไป แต่ท่ามกลางความรื่นรมย์นั้นก็ยังมีปัญหาที่บรรดา Digital Nomad ต้องเผชิญนั่นก็คือการต้องวางแผนการเดินทางด้วยตนเอง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องวางแผนทั้งการทำงานและการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน ไหนจะหาที่นั่งทำงานไม่ได้ ไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ส่งงาน อ้าว นั่นลืมจองตั๋วของวันนั้นอีก
เนื่องจากประชากรชาว Digital Nomad กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีสตาร์ทอัพที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองและอำนวยความสะดวกให้กับไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้ บริการที่สตาร์ทอัพเหล่านี้เสนอ ก็เป็นไปเพื่อให้ชาวโนแมดทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก พร้อมกับได้สำรวจโลกกว้างไปพร้อมๆ กันอย่างสบายใจ
Remote Year
เป็นสตาร์ทอัพที่ตั้งขึ้นด้วยความที่ผู้ก่อตั้ง Greg Caplan เกิดอยากไปเที่ยวด้วยทำงานด้วย แต่รู้สึกว่าต้องจัดการอะไรยุ่งยาก แถมหาเพื่อนไปด้วยไม่ได้ เขาเลยตั้ง Remote Year ขึ้น แล้วส่งคนที่อยากใช้ชีวิตแบบชาวโนแมด 80-100 คนต่อปี ออกไปท่องโลกพร้อมทำงาน โดยจะเปลี่ยนสถานที่ทุกๆ เดือน พร้อมกับจัดให้ทุกอย่างตั้งแต่การเดินทาง ที่พัก ที่ทำงาน กิจกรรมสันทนาการ (จะได้ไม่เหงา) รวมไปถึงหางานที่เหมาะกับผู้สมัครให้ด้วยถ้าต้องการ แต่แน่นอนล่ะว่าบริการที่ครบครัน ก็มาพร้อมค่าบริการที่ค่อนข้างจะโหดอยู่เหมือนกัน ตอนนี้ Remote Year มีแพ็คเกจแบบ 4 เดือน ในราคา $11,000 และ 1 ปี ในราคา $27,000
remoteyear.com
Roam
อยากลองย้ายไปอยู่ประเทศอื่นสักพัก แต่ยังไม่ถึงกับอยากปักหลักหรือทำสัญญาเช่าอย่างจริงจัง สตาร์ทอัพนี้คือคำตอบสำหรับชาว ‘Roamer’ ด้วยการจัดหาที่อยู่สำหรับพักในระยะยาวทั่วโลก โดยเป็นลักษณะการแชร์พื้นที่ ทั้งที่อยู่อาศัย (co-living) และที่ทำงาน (co-working) โดยความตั้งใจหลักของ Bruno Haid ผู้ก่อตั้งคือต้องการมอบความสะดวกสบายในการพักผ่อน สร้างคอมมูนิตี้ไม่ให้รู้สึกเหงาจากการจากบ้านมาอยู่ไกลๆ และขณะเดียวกันก็ยังคงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย ตอนนี้ Roam มีบริการที่ Miami, Bali, Tokyo และ London โดยมีค่าบริการเริ่มต้นที่ $500 ต่อสัปดาห์ และ $1,800 ต่อเดือน
roam.co
Behere
เป็นสตาร์ทอัพที่เพิ่งเปิดตัวแบบสดๆ ร้อนๆ ลักษณะคล้ายกับบริการของชาวโนแมด คือหาที่พักในเมืองที่อยากไปและหาออฟฟิศสำหรับทำงานให้ แต่ต่างตรงที่ให้บริการสำหรับสาวๆ โดยเฉพาะ ก็เลยจะมีเรื่องของการจัดบริการด้านสุขภาพความงาม และปาร์ตี้อีเวนต์สำหรับผู้หญิงให้ด้วย ในแต่ละที่ที่ไปก็จะมีผู้ดูและที่จะคอยให้คำปรึกษาด้วย ราคาเริ่มต้นของ behere อยู่ที่ประมาณ $1,400 ต่อเดือน
gobehere.com
Nomad House
นอกจากการเที่ยวไปทำงานไปและการได้พบเพื่อนใหม่ การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อยสำหรับชาวโนแมด ซึ่งสตาร์ทอัพอย่าง Nomad House ก็ได้เสนอบริการในรูปแบบนี้ โดยจะมีลักษณะเหมือนไปเข้าค่ายเรียนรู้ด้านธุรกิจที่ได้พักผ่อน ได้เที่ยว แล้วก็ไม่เสียงานด้วย โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ $1,300 และใช้เวลา 30 วัน ส่วนจุดหมายปลายทางก็จะเปลี่ยนไปทั่วโลกในแต่ละเดือน
nomadhouse.io
Hacker Paradise
สตาร์ทอัพนี้เหมาะสำหรับโนแมดสายเทค ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์หรือนักออกแบบ โดยจะเดินทางเป็นกลุ่ม 20-30 คนไปยังหลายจุดหมายทั่วโลก มีระยะเวลาให้เลือกตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือน แต่ Hacker Paradise จะค่อนข้างเข้มงวดในการเลือกคนร่วมทริปโดยจะมีการสัมภาษณ์อย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สมัครเหมาะกับการเดินทางครั้งนั้นจริงๆ เพราะนอกจากพักผ่อน เที่ยว และทำงานแล้ว คนที่ร่วมเดินทางไปกับ Hacker Paradise ยังหวังจะได้คอนเน็คชั่นดีๆ จากเพื่อนร่วมทางในสายงานใกล้เคียงกันด้วย ช่วงราคาอยู่ที่ $500-$2,100
hackerparadise.org
Refuga
อาจจะเรียกได้ว่าเป็น business trip สไตล์แอดเวนเจอร์ เมื่อจุดหมายหลักของ Refuga คือการรวบรวมเอาบรรดาผู้ประกอบกิจการหรือเจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ มาออกเดินทางผจญภัยเพื่อเปิดมุมมองทางธุรกิจใหม่ๆ (ผจญภัยในที่นี้หมายถึงปีนเขาหรือติดเกาะ แต่ก็ยังมี co-working space และ sesssion ธุรกิจให้เข้าร่วม) โดยจะจัดทริปเป็นเวลาสั้นๆ 5-15 วันไปยังจุดหมายที่ตื่นเต้นหน่อย ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ $1,700
refuga.com
หลายคนอาจจะบอกว่าคนที่จะทำแบบนี้ได้ก็ต้องเป็น ‘ฟรีแลนซ์’ เท่านั้น เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่ต่อไปการอนุญาตให้ ‘เที่ยวไปทำงานไป’ อาจจะกลายเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งของบริษัทก็ได้
จากรายงาน Future Workforce Report ของ Upwork บริษัทจับตาเทรนด์แห่งใหญ่ในสหรัฐฯ ได้ทำการสำรวจผู้บริหารของบริษัทใหญ่ๆ ราว 1,000 บริษัท บรรดาผู้บริหารมองว่า 38% ของพนักงานที่ทำงานกับพวกเขาอยู่ขณะนี้ มีแนวโน้มที่จะขอทำงานทางไกล (Remote Work) ในอนาคตอันใกล้ และพวกเขาก็มองว่าคงไม่ใช่เรื่องดีนัก หากจะไปขัดกับความต้องการในโลกของการทำงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่นอย่างในยุคสมัยนี้ รวมไปถึงว่า บริษัทก็ให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำให้งานสำเร็จ มากกว่าความจำเป็นที่ต้องมีพนักงานนั่งในออฟฟิศอยู่แล้ว
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘Digital Nomad’ หรือสวัสดิการที่บริษัทเสนอให้ แต่การได้รับความยืดหยุ่นของเวลาและสถานที่ในการทำงาน ก็น่าจะทำให้ชีวิตคนทำงานดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและความผูกพันที่มีต่อบริษัทอย่างแน่นอน
Work Hard Anywhere
แอพฯ สำหรับหาที่นั่งทำงานใน 100 ประเทศ มีข้อมูลสถานที่กว่า 13,000 แห่งที่ได้มาจากระบบ crowdsource มีทั้งคาเฟ่ coworking space และห้องสมุด โดยมีการให้คะแนนทั้งคุณภาพ Wi-Fi ที่นั่ง ราคา ความสะดวกสบาย และอื่นๆ ผู้สร้างแอพฯ นี้บอกว่า เขาเองในฐานะ Digital Nomad ก็เคยประสบปัญหาหาที่ทำงานไม่ได้มาเหมือนกัน
workhardanywhere.com
Hoffice
เป็นความร่วมมือระหว่างบรรดา coworking space กับ AirBnB ที่ให้คนเปิดพื้นที่ทำงานในบ้าน ให้ Digital Nomads เช่าสำหรับนั่งทำงานได้
hoffice.nu/en
สำหรับชาวโนแมดที่ต้องการหาเพื่อน ลองเลือกใช้แอพฯ และบริการเหล่านี้ดู
Nomadbase : nomadbase.io
NomadPass : nomadpass.com
Nomad Soulmates : nomadsoulmates.com