ตามรอยหนังนั่งรถไฟไปรัฐฉาน MYANMAR FARAWAY
เรื่อง/ภาพ ระหว่างก้าว
“อยู่ที่ไหน ไกลเท่าไร ฉันจะตามหา ที่ขอบฟ้าฉันจะเจอเธอไหม..” เมื่อเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘ถึงคน..ไม่คิดถึง From Bangkok to Mandalay’ ดังขึ้นพร้อมกับเครดิตตอนจบที่วิ่งขึ้นมา เราหันไปสบตากับเพื่อนข้างๆ แล้วบอกสั้นๆ ว่า “ไปกัน!”
มัณฑะเลย์ (Mandalay) อาจเป็นชื่อเมืองที่พอจะคุ้นหูบ้างสำหรับใครหลายคน แต่ไม่ใช่สำหรับพินอูลวิน (Pyin U Lwin) กับ สิป้อ (Hsipaw) เมืองที่ขยับห่างออกไปและถูกบรรจุไว้ในแผนการเดินทาง ความกังวลใจเกิดขึ้นเล็กน้อยสำหรับการแวะเวียนไปยังสองเมืองที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตยังมีไม่มากนัก และดูจะยังไม่ใช่ที่นิยมเท่าไหร่ แต่เราก็หันไปบอกเพื่อนว่า “มีคนไปได้ เราก็ต้องไปได้.. ไปได้แหละ เดี๋ยวก็หาทางไปได้เอง” ไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมทางจะเชื่อในประโยคนี้สักกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ที่เห็นก็ยอมเก็บกระเป๋าไปด้วยกันมาแล้ว
เมื่อช่วงเวลา 6 วันของการเดินทางเริ่มต้นขึ้น เราสองคนตกลงกันด้วยเงื่อนไขง่ายๆ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ขอให้ได้นั่งรถไฟที่สูงและเสียวที่สุดของพม่า สอง ขอให้ได้ดูพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าและทุ่งนากว้างๆ แบบในหนัง และสาม ขอกินขนมซาโมซ่าและก๋วยเตี๋ยวฉาน (Shan Noodles) อร่อยๆ ด้วยก็จะดี
พินอูลวิน, เมืองผ่านทาง
ไฟลท์จากดอนเมืองแตะพื้นสนามบินมัณฑะเลย์ ผิดคาดเล็กน้อยตอนที่ไอร้อนผ่าวๆ สะท้อนจากพื้นขึ้นมาโดนหน้าทันทีที่ก้าวเท้าออกจากอาคาร พฤศจิกายนของพม่าไม่ได้เย็นอย่างที่คิด ‘ยี่ยี่’ (Nyi Nyi) หนุ่มหน้ามนคนขับรถถือป้ายต้อนรับเราอยู่ หลังการต้อนรับด้วยมื้อกลางวันแบบง่ายๆ แต่จัดเต็มที่ร้านข้างๆ สนามบิน ยี่ยี่ก็พาขับลัดเลาะไปตามเขตเขา มุ่งหน้าสู่ ‘พินอูลวิน’ เมืองตากอากาศของทหารอังกฤษ สมัยจักรวรรดิยังครอบครองดินแดนแห่งนี้
ระยะทางราว 100 กิโลเมตรจากสนามบิน กินเวลาเดินทางไปสองชั่วโมงนิดๆ อาจเพราะมีก่อสร้างระหว่างทางนิดหน่อย เราเลยฆ่าเวลากันด้วยการหลับคอพับคออ่อน มารู้ตัวอีกที ก็ตอนยี่ยี่หันมาถามชื่อโรงแรมซ้ำอีกครั้ง พร้อมชวนหันไปดูหอนาฬิกาประจำเมืองเบื้องหลัง และรถม้าวิ่งผ่านไปแบบช้าๆ
พินอูลวิน หรือ เมย์เมียว (Maymyo) ซึ่งเป็นชื่อเดิมก่อนเข้าสู่ระบอบปกครองด้วยรัฐบาลทหาร สำหรับเราแล้ว มีความอิหลักอิเหลื่อแบบแปลกๆ เหมือนเทเอาพม่า อังกฤษ และแขกอินเดียมารวมกัน แต่คนยังไม่เข้ากันดี ไม่ได้หมายความว่าเมืองนี้ไม่ดีนะ พินอูลวินก็เป็นพินอูลวินแบบที่เป็นนั่นแหละ เป็นเมืองบนเขาที่อากาศเย็นสบาย สมศักดิ์ศรีที่เรียกขานกันว่าเป็นเมืองตากอากาศของชนชั้นสูง และด้วยความที่เคยเป็นฐานบัญชาการของกองทัพอังกฤษมาก่อน ก็มีโบสถ์และบ้านสไตล์โคโลเนียลให้ได้เห็นทั่วทุกมุมถนน
หอนาฬิกาเพอร์เซล (Purcell Clock) เป็นเหมือนหมุดปักไม่ให้หลงทิศหลงทางตอนเราเดินเที่ยวเล่นในเมืองนั้น เราสาวเท้าผ่านอากาศเย็นในช่วงเริ่มค่ำไปยัง ‘All Saints’ Church’ โบสถ์เก่าแก่ที่เป็นฉากสำคัญในหนังเป็นที่แรก (ก็มาตามรอยหนังไง อย่าลืมสิ!) ภายในโบสถ์ไม่ได้ตกแต่งวิจิตรหรูหราอะไรมากมาย แต่แสงสุดท้ายที่ตัดกับสีแดงอิฐก็ถือว่าคุ้มค่าแก่การเดินมาหา
เดินกลับจากโบสถ์มาแวะ ‘Central Market’ ที่มีสตรีทฟู้ดครึ่งพม่าครึ่งแขกให้ได้เลือกกินกันแบบขาดสติ คนในเมืองนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของทหารรับจ้างจากอินเดียและเนปาล ที่ไม่อยากกลับบ้านหลังอังกฤษคืนเอกราชให้พม่า จึงไม่แปลกถ้าจะมีคนแขกเดินเข้ามาทักทายและพูดคุยในระหว่างเดินไปเดินมาในเมืองอยู่บ่อยๆ
เราใช้เวลาเพียงช่วงสั้นๆ ในเมืองนี้ เพราะตั้งใจให้เป็นเมืองผ่านทางสำหรับการขึ้นรถไฟไปและกลับสิป้อ แต่จริงๆ แล้วเมืองนี้ยังมี ‘สวนพฤกษศาสตร์กันดอว์จี’ (National Kandawgyi Botanical Gardens) ที่คนพม่าชอบพาครอบครัวมาพักผ่อน และถนน ‘Circular Road’ ที่ไปปั่นจักรยานเล่นได้ ประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการมาพักตากอากาศที่สุดของเรา น่าจะเป็นการนั่งรถม้าระหว่างสถานีรถไฟกับโรงแรม ซึ่งคนลุงคนขับก็มีรอยยิ้มที่น่ารักเสียเหลือเกิน
พินอูลวินอาจเป็นเพียงเมืองผ่านทาง แต่ก็ดีที่ได้แวะไป เพราะเหมือนกับเป็นการปรับจังหวะก้าวให้ผ่อนลง ก่อนมุ่งหน้าสู่จังหวะของความช้า เป็นการคูลดาวน์หลังออกกำลังกายและใจในเมืองหลวงมาเป็นเวลานาน
๐ ใครที่จะแวะเวียนไปเที่ยวแถบมัณฑะเลย์-พินอูลวิน-พุกาม และต้องการสารถีผู้น่ารัก แนะนำให้ติดต่อยี่ยี่ หนุ่มพม่าใจดี สุภาพแต่ตลก ขับรถปลอดภัย และเลือกร้านอาหารได้เก่งจริงๆ – sagaciousmyanmar.com
๐ สำหรับที่พักในพินอูลวิน ถ้าใครไม่ได้เช่ารถและอาศัยการเดินเที่ยว แนะนำให้พักใกล้ๆ กับหอนาฬิกาน่าจะสะดวกกับการเดินเล่นไปมา ส่วนใครที่มีรถคอยรับส่ง ที่พักย่านสวนพฤกษศาสตร์ก็ให้บรรยากาศการพักผ่อนที่ดี
ก๊อกเต๊ก, ข้ามหุบเหวใหญ่ด้วยสะพานรถไฟที่ยาวที่สุดของพม่า
ลมหนาวพัดมาปะทะข้างแก้มในเช้าวันที่เราแบกเป้มายืนอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟพินอูลวิน การเดินทางโดยรถยนต์นั้นเป็นทางเลือกหลักสำหรับเส้นทางสู่เมืองสิป้อและรัฐฉาน แต่ในหนังเขานั่งรถไฟไปไง! เราเลยเลือกใช้เวลา 7 ชั่วโมงบนทางเลือกรองที่มุ่งหน้าไปสู่ที่เดียวกัน ซึ่งไฮไลท์ของการเดินทางโดยรถไฟก็คือ ‘สะพานก๊อกเต๊ก’ (Goteik Viaduct) สะพานรถไฟที่สูงที่สุด ยาวที่สุด และเก่าแก่ที่สุดของพม่า
รถไฟไปกลับวันละเที่ยวบนเส้นทางนี้เริ่มต้นที่มัณฑะเลย์แต่เช้ามืด ก่อนจะแวะจอดรับผู้โดยสารที่พินอูลวินในเวลาเกือบ 8 โมงเช้า ผ่านเมืองสิป้อ และไปสิ้นสุดที่เมืองล่าเสี้ยว (Lashio) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศจีน ตู้โดยสารมี 3-4 ตู้ต่อขบวนและแบ่งเป็นชั้นธรรมดา (เก้าอี้ไม้) กับชั้นพิเศษ (เบาะนั่งนุ่มๆ) แน่นอนว่าด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน เราเลือกตัวเลือกหลัง ซึ่งโชคดีมากที่เช้าวันนั้นเราคว้าตั๋วสองที่นั่งสุดท้ายมาได้
ทิวทัศน์สองข้างทางมีทั้งหมู่บ้าน ทิวเขา และทุ่งหญ้าที่ห่มคลุมไปด้วยดอกไม้สีเหลืองให้ได้เพลินตา แต่หัวใจเริ่มเต้นผิดจังหวะ เมื่อเห็นหุบเหวใหญ่และสะพานเหล็กทอดยาวอยู่เบื้องหน้า
“ผมต้องมาดูให้เห็นกับตา นี่คืองานมาสเตอร์พีซชิ้นหนึ่งของโลก” คุณลุงวิศวกรเพื่อนใหม่ชาวสิงคโปร์ที่นั่งอยู่ข้างๆ หันมาบอก เขาเล่าให้ฟังว่าเขาเดินทางไปทำงานมาเกือบทั่วโลก จนในวัยใกล้เกษียณ เขาเลือกเดินทางมาที่พม่าด้วยเป้าหมายคือต้องการมาเห็นงานมาสเตอร์พีซชิ้นนี้
คำว่า ‘มาสเตอร์พีซ’ ของคุณลุงวิศวกร ไม่ได้หมายถึงความสวยงามในการสลักเสลาสะพานหรือตกแต่งด้วยสุนทรียศาสตร์ทางศิลป์ใดๆ แต่น่าจะเป็นความอลังการเชิงเทคนิควิศกรรม และความอัศจรรย์ในการสร้างสะพานสูงที่แข็งแกร่งขนาดนี้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในหุบเขาที่ลึกกว่า 200 เมตร แต่ใช้เวลาในการประกอบสร้างเพียง 9 เดือนเท่านั้น ด้วยความสูง 102 เมตร ยาว 689 เมตร ‘สะพานรถไฟก๊อกเต๊ก’ ครองตำแหน่งสะพานรถไฟที่สูงที่สุดในอาเซียนและสูงเป็นอันดับสองของโลก สร้างโดยผู้รับเหมาชาวอเมริกันตั้งแต่ 1901 และยังคงตั้งตระหง่านผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนทุกวันนี้
เป็นความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งที่ทุกครั้งซึ่งได้นั่งอยู่บนรถไฟ เราไม่เคยอยากให้มันเร่งความเร็วไปข้างหน้า อาจเพราะความช้าเป็นเสน่ห์ของการเดินทางในรูปแบบนี้ แต่ตอนที่อยู่บนสะพานนั้น เรากลับภาวนาให้ความเร็วของรถไฟขบวนนั้นเปลี่ยนไป เปล่า.. ไม่ได้ต้องการให้เร็วขึ้น เพียงแต่ต้องการให้ช้าลง เพื่อจะดื่มด่ำช่วงเวลาแสนพิเศษนี้ให้นานที่สุด ก็เท่านั้น
สิป้อ, แสงสุดท้ายแห่งรัฐฉาน
‘รักแท้บนบาดแผลประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า’ คือคำนิยม (หรือนิยาม) ที่มีคนให้ไว้สำหรับหนังสือและภาพยนตร์เรื่อง ‘Twilight Over Burma’ หรือชื่อไทยที่งดงามปนโศกเศร้าว่า ‘สิ้นแสงฉาน’ และฉากเบื้องหลังเรื่องราวโศกซึ้งในเรื่องนี้ก็คือเมืองที่เรามุ่งหน้ามาหาอย่าง ‘สิป้อ’ (Hsipaw)
เมืองในขุนเขาที่อยู่ติดกับทางตอนใต้ของจีนนี้เป็นดินแดนของรัฐไทยใหญ่ที่ชื่อรัฐฉาน (Shan State) อากาศที่นี่เย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี รถไฟพาเราไปถึงสิป้อในช่วงบ่ายคล้อยเย็น หลังเก็บข้าวของเข้าที่พักที่ตั้งใจมานอนเล่นสักสองคืนและหาอาหารรองท้องแล้ว เราก็โบกตุ๊กตุ๊กมุ่งหน้าไปยัง ‘Sunset Hill’ จุดชมวิวที่ตั้งชื่อมาเพื่อบอกว่า “ไปดูพระอาทิตย์ตกที่นี่กัน”
เมื่อสองเท้าก้าวขึ้นไปยืนบนยอดเขา เบื้องหน้าคือภาพของแม่น้ำมิตเหงะ (Myitnge River) สายใหญ่และยาวทอดผ่านกลางเมือง ที่มีอาคารบ้านเรือนเรียงรายสลับกับทุ่งนาและต้นไม้ในระยะสบายใจ เบื้องหลังเป็นทิวเขาใหญ่สลับซับซ้อนโอบล้อมเมืองแห่งนี้ แสงสุดท้ายค่อยๆ ระบายสีสลับกับก้อนเมฆ แล้วลับตาไปตรงเส้นขอบฟ้า
ได้มาเห็นกับตาแล้วนะ ..สิ้นแสงฉาน
แต่แล้วแสงฉานก็กลับมาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันที่เราตัดสินใจจองทริปออกไปสำรวจเมืองแห่งนี้กัน ‘แจ๊ค’ เด็กหนุ่มหน้าจิ้มลิ้มแห่งเมืองฉาน อาสาพาเราเดินลัดเลาะตามทางผ่านทุ่งนา ป่า สุสาน และภูเขาไปยังจุดหมายแรก นั่นก็คือน้ำตกที่ชื่อเดียวกับเมือง (Hsipaw Waterfall) จริงๆ ระยะเดินจากตัวเมืองมายังน้ำตกน่าจะประมาณ 6 กิโลเมตร มีทางลาดทางชันบ้าง แต่เราและเพื่อนร่วมทางกลับรู้สึกไม่เหน็ดเหนื่อยมากนัก ด้วยบทสนทนาอันน่ารักที่แจ็คชวนเราคุยตลอดทาง
หลังจากนั่งเอาเท้าแช่น้ำ อาบความเย็นของน้ำที่ตกลงกระทบหินจนสบายใจ เราก็มุ่งหน้าต่อไปยังหมู่บ้านฉาน ที่รอต้อนรับด้วยก๋วยเตี๋ยวฉาน (Shan Noodles) ต่อด้วยกิจกรรมสุดท้ายก่อนเดินทางกลับที่พัก นั่นคือการล่องเรือไปตามแม่น้ำมิตเหงะ โบกมือทักทายให้กับชาวฉานที่ออกมาซักผ้าหรืออาบน้ำตลอดสองชายฝั่ง
๐ สำหรับที่พักในสิป้อ ขอแนะนำ Mr. Charles Hotel (mrcharleshotel.com) เป็นโรงแรมที่ราคาไม่แพง สะอาด บริการดี มีรถรับส่งจากสถานีรถไฟ แถมยังมีบริการทริปให้เลือกด้วย
๐ ส่วนอาหารจานเด็ดของพม่า ส่วนตัวอยากแนะนำข้าวผัด ที่ใช้ข้าวเม็ดใหญ่และเรียวยาว ผัดแบบแห้งๆ อร่อยแทบทุกร้านที่สั่ง นอกจากนั้นก็ควรลอง ก๋วยเตี๋ยวฉาน เส้นก๋วยเตี๋ยวกลมหนาในน้ำซุปใสนั้นมีกลิ่นหอมกระเทียมและพริกไทยดำ และอีกอย่างคือ ซาโมซ่า เปาะเปี๊ยะรูปสามเหลี่ยมสอดไส้ถั่ว ไก่ทอด หอมแดง กะหล่ำปลี และมันฝรั่ง
สิป้อ, แสงสุดท้ายแห่งรัฐฉาน
อากาศยามเช้าที่สถานีรถไฟสิป้อนั้นเย็นสบายและมีสายหมอกจางๆ รถไฟที่จะพาเรามุ่งหน้ากลับพินอูลวินและเดินทางกลับบ้านค่อยๆ เคลื่อนตัวมาเทียบชานชาลาอย่างช้าๆ เราสูดลมหายใจเอาอากาศดีๆ ที่สิป้อไว้เต็มหัวใจ เก็บเอาจังหวะที่เนิบช้า ทุ่งนาที่โล่งกว้าง และภูเขาที่โอบกอดเอาไว้ ก่อนจะมุ่งหน้ากลับเข้าสู่เมือง
“อยู่ที่ไหน ไกลเท่าไร ฉันจะตามหา ที่ขอบฟ้าฉันจะเจอเธอไหม..” เราเปิดเพลงนี้ฟังอีกครั้งในระหว่างที่รถไฟค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากชานชาลา ก่อนจะกระซิบเบาๆ กับตัวเองว่า “เราไม่ได้เพียงคิด แต่เรามาถึงแล้วนะ”