‘อีโค-เฟรนด์ลี’ ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
Eco-friendly เป็นเรื่องที่ได้ยินกันมาหลายปี เริ่มเห็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ และควรจะได้การสานต่ออย่างยั่งยืน แล้วเราเข้าใจคำว่า “อีโค-เฟรนด์ลี” กันดีแค่ไหน? หัวใจหลักๆ ของอีโค-เฟรนด์ลี คือการตอบโจทย์ว่า เราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด สมเหตุสมผลและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
Eco-friendly material
วัสดุ คือหัวใจหลักของผลิตภัณฑ์อีโค-เฟรนด์ลี วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือวัสดุที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในทุกขั้นตอน ซึ่งควรมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้ เช่น สามารถใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ มีความคงทนใช้งานได้คุ้มค่า ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เป็นวัสดุที่ผลิตเพิ่มได้ ไม่ใช่ใช้แล้วหมดไป ใช้พลังงานในการผลิตต่ำ ช่วยลดมลพิษ เป็นต้น โดยวัสดุที่เข้าค่ายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น
ไม้ไผ่
ได้ชื่อว่าเป็นวัสดุสุดยอดอีโค-เฟรนด์ลีของโลก เพราะหาได้ง่าย โตเร็ว แข็งแรง มีน้ำหนักเบา แต่สามารถรองรับน้ำหนักได้มาก ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายตั้งแต่ทำเครื่องใช้ไม้สอยไปจนถึงทำรั้ว แม้กระทั่งสร้างบ้าน
ไม้รีไซเคิล
เป็นการนำเศษไม้ธรรมชาติมาผสมกับเศษไม้อัด อัดแปรรูปเป็นไม้อัดแผ่นใหม่ ใช้ปูพื้นหรือตกแต่งอาคารได้ ถ้าเกิดความเสียหายจากการใช้งานที่ไม่ได้มีการปนเปื้อนมากเกินไป ยังสามารถนำไปคัดแยก บด แล้วกลับสู่กระบวนการทำไม้อัดใหม่ได้อีก
เหล็กรีไซเคิล
เหล็กเป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งานยาวนาน และนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ รวมถึงมีต้นทุนในการรีไซเคิลที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ และเหล็กยังสามารถนำไปหลอมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ง่าย
กรีนบอร์ด
แผ่นกระดาษอัดที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม ประกอบด้วยกระดาษ 75% โพลิเอทิลีน 20% และอะลูมิเนียมฟอยล์ 5% มีคุณสมบัติคล้ายไม้เนื้อแข็ง ทนทานแข็งแรงกว่าไม้อัด ทนต่อความชื้น กันน้ำ กันปลวก และมอด เป็นฉนวนกันความร้อนและกันเสียงได้ สามารถดัดโค้ง เลื่อย ตัด ติดกาว เจาะยึดด้วยตะปูได้ และทำสีได้ การรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม 1 ตัน ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 900 กิโลกรัม
แกลบอัดแท่ง
ปกติหลังการสีข้าว จะได้แกลบซึ่งอาจนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย หรือใช้เป็นเชื้อเพลิง แต่การนำแกลบไปบดให้ละเอียดและอัดเป็นแท่ง ทำให้สามารถนำไปใช้งานหรือเก็บรักษาได้สะดวกยิ่งขึ้น กลายเป็นถ่านแกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนได้อย่างดี คุ้มค่า ช่วยลดการตัดไม้ทำฟืนหรือเผาถ่าน และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม
กากกาแฟ
ขยะจากกากกาแฟโดยทั่วไปถูกจัดการด้วยวิธีฝังกลบ ซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ความจริงแล้วกากกาแฟสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ย ช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้ต้นไม้ได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม มีผู้คิดค้นพัฒนากากกาแฟให้กลายเป็น Cofee logs หรือถ่านจากกากกาแฟ แม้ว่าการใช้ถ่านจะยังสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะที่เผา แต่เมื่อเทียบกับการกำจัดแบบเดิมแล้ว สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 80%
ฟิล์มบรรจุภัณฑ์อาหารจากเลือดหมู
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาสาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ได้ทำการทดลองดัดแปรพลาสมาโปรตีนจากเลือดของหมู และนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบริโภคได้ (Edible Film) เพื่อประยุกต์เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร สามารถรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย เป็นฟิล์มพอลิเมอร์ชีวภาพ ที่มีคุณสมบัติทัดเทียมกับวัสดุสังเคราะห์ที่มีในท้องตลาด ทั้งยังย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปริมาณขยะพล่าสติก จะเห็นได้ว่า มีความพยายามมากมายที่จะสรรหาวัสดุที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ นำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาผลิตใหม่ รวมทั้งคิดค้นวัสดุใหม่ๆ เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และลดขยะไปพร้อมๆ กัน
Eco-friendly Design
หลักการของอีโค-เฟรนด์ลี มีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่
ต้องคำนึงถึง “กระบวนการผลิต”
การเลือกใช้วัตถุดิบจากของเหลือใช้ วัตถุดิบปลอดสารพิษ วัตถุดิบที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบที่สามารถแปรสภาพนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะที่ขั้นตอนการผลิตต้องลดความซับซ้อน เพื่อให้ใช้พลังงานน้อยลง มีของเสียระหว่างการผลิตน้อย ประหยัดในมิติต่างๆ ซึ่งรวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ช่วยประหยัดพื้นที่การจัดเก็บ และสามารถนำไปใช้งานอื่นได้อีก
ต้องคำนึงถึง “การขนส่ง”
วิธีการขนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ต้องรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ต้องประหยัด ซึ่งหมายรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ประหยัดพื้นที่ เพื่อให้บรรทุกได้มากขึ้น ลดจำนวนครั้งในการขนส่ง ซึ่งเท่ากับการลดการใช้พลังงาน และลดมลพิษจากการใช้พลังงาน
ต้องคำนึงถึง “ผู้ใช้งาน”
จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยใช้งานได้ ทำอย่างไรให้ทนทาน ใช้งานได้ยาวนาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยให้สิ้นเปลือง คุ้มค่ากับทรัพยากร วัตถุดิบ พลังงานต่างๆ ที่สูญเสียไปในการผลิตทุกขั้นตอน
ต้องคำนึงถึง “การกำจัด”
งานออกแบบที่ดี ต้องไม่ทำลายสื่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายทาง วัสดุที่ใช้ย่อยสลายเองได้หรือไม่ กำจัดและจัดการอย่างไรเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ซ่อมแซมง่ายไหม เปลี่ยนเฉพาะขิ้นส่วนเพื่อยืดอายุการใช้งานได้หรือไม่ ใช้งานซ้ำได้หรือเปล่า เพื่อช่วยลดการทิ้งให้กลายเป็นขยะ
———————————————————-
ที่มา: Mercedes Me Magazine Issue 03/2020