TOP

พ็อดคาสท์ (Podcast) ทางเลือกของสื่อรูปแบบเสียง บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่กำลังมาแรง

บรรดานักลงทุนเชื่อว่า “พ็อดคาสต์” เป็นสื่อที่กำลังจะมาแรง

 

พ็อดคาสต์ คืออะไร?

หลายคนยังอาจสงสัย แต่ถ้าเห็นโลโก้ของพ็อดคาสต์แล้ว คงรู้สึกว่าคุ้น เพราะสิ่งนี้มีมานานแล้ว เป็นแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาพร้อมกับไอโฟนและไอแพด แต่ก็ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในประเทศไทย พ็อดคาสต์ คือรายการเผยแพร่เสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือสื่อในรูปแบบเสียง คล้ายๆ รายการวิทยุ โดยผู้จัดจะบันทึกเสียงเพื่อนำเสนอรายการลงบนช่องทางออนไลน์ของตน จุดเด่นของพ็อดคาสต์คือ การนำเสนอเนื้อหามักแบ่งเป็นตอนๆ ผู้ฟังสามารถเลือกฟังเฉพาะตอนที่สนใจ ดาวน์โหลดเก็บไว้ได้ ฟังเมื่อไหร่ก็ได้ ฟังได้โดยไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต และสมัครรับช่องที่จะฟังได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จุดเริ่มต้นของพ็อดคาสต์มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 2004

คำว่า “พ็อดคาสต์” นั้นมาจากคำว่า POD หรือ Personal On-Demand รวมกับคำว่า Broadcasting กลายเป็นคำว่า Podcasting บ้างก็ว่ามาจากคำว่า iPod + Broadcast เนื่องจากพ็อดคาสต์เหมือนต่อยอดมาจากที่คนนิยมฟังไอพ็อด แม้ว่าพ็อดคาสต์จะเป็นแอปพลิเคชัน ที่มาพร้อมอุปกรณ์ในเครือข่ายของค่ายแอปเปิล หรือระบบปฏิบัติการ iOS แต่สำหรับ Android ก็มีเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกูเกิลเปิดตัว Google Podcasts บนแอนดรอยด์ อย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 2018 แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพด้วย AI ของกูเกิล ที่เก็บข้อมูลจากพฤติกรรมการฟังที่ผ่านๆ มา แล้วช่วยแนะนำรายการใหม่ๆ ให้ตรงใจคนฟัง นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันอื่นๆ เช่น Podbean, Castbox, Sticher, Anchor, Overcast ฯลฯ ทั้งสำหรับไอโอเอส และ แอนดรอยด์ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่อยากลองอะไรที่แตกต่าง

 

การเติบโตของ Podcasts

ปัจจุบัน พ็อดคาสต์ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 660,000 ช่อง มีรายการรวมประมาณ 28 ล้านตอน ซึ่งน่าจะครอบคลุมทุกเรื่องที่ผู้คนสนใจ ทั้งข่าว ธุรกิจ การศึกษา ศิลปะ สังคม วัฒนธรรม ตลก ทำอาหาร ฯลฯ กลุ่มผู้ฟังพ็อดคาสต์ส่วนใหญ่คือคนรุ่นมิลเลนเนียล (Generation Y) คืออายุประมาณ 23-40 ปี และเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มช่วงอายุที่เด็กกว่านั้น (Generation Z) คือประมาณเด็กมัธยมถึงมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่แน่นะว่า หากคนในกลุ่มเจนเอ็กซ์ (Generation X – ค.ศ. 1965-1980) ค้นพบว่า พ็อดคาสต์มีรายการหลากหลายมาก ก็อาจจะหันมาฟังมากขึ้น เพราะการฟังทำให้สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นไปพร้อมกันได้ ช่วยลดภาระในการใช้สายตาได้ และข้อดีที่เหนือกว่าวิทยุทั่วไปคือ ฟังเมื่อไหร่ก็ได้ที่สะดวก ไม่ต้องคอยติดตามรายการต่างๆ ตามตารางเวลาออกอากาศ

ตลาดพ็อดคาสต์ที่แพร่หลายและมีมูลค่าสูงที่สุดในโลกคือ สหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 5 ปีมานี้ รายได้จากค่าโฆษณาบนพ็อดคาสต์ในสหรัฐอเมริกา เติบโตขึ้นเกือบ 4 เท่า เฉลี่ยปีละ 30% แต่ถึงกระนั้น ก็ยังถือว่าเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ สำหรับพ็อดคาสต์ในไทยริ่มเติบโตมากขึ้นในช่วงสองปีมานี้ โดยมีประมาณ 60 ช่อง กว่า 200 รายการ เนื้อหาหลากหลายมาก ตั้งแต่วิเคราะห์ข่าว, เรียนภาษา, แนะนำหนังสือ, แนวทางการใช้ชีวิต, ไปจนถึงธรรมะบรรยายของหลวงพ่อชื่อดัง รูปแบบพ็อดคาสต์ไทยเกือบครึ่ง จะเป็นการสนทนาระหว่างผู้จัดด้วยกันเอง รองลงมาก็คือรายการสัมภาษณ์ จัดรายการเดี่ยว และการบรรยายทั่วๆ ไป ที่น่าสนใจคือ คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า การสอดแทรกโฆษณาในพ็อดคาสต์เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ คือคนจัดรายการมักจะพูดโฆษณากันตรงๆ ไปเลย บางทีก็ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของรายการเลยด้วยซ้ำ แต่คนฟังกลับรับได้ และผลสำรวจก็พบด้วยว่า 60% ของผู้บริโภค ค้นหาสินค้าหลังจากที่ได้ยินโฆษณาจากรายการในพ็อดคาสต์ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนคาดการณ์ไว้ว่า พ็อดคาสต์อาจกลายเป็นสื่อกระแสหลักได้ในไม่ช้า

 

6 Podcasts ยอดนิยมของไทย

คำนี้ดี
รายการพ็อดคาสต์ของสำนักข่าวออนไลน์ The Standard “คำนี้ดี” เป็นรายการสอนภาษาอังกฤษ ผ่านคำศัพท์วันละนิดละหน่อย ความยาวตอนละประมาณ 15 นาที

 

The Secret Sauce
อีกหนึ่งรายการของ The Standard เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสำเร็จของธุรกิจต่างๆ ถอดรหัสความสำเร็จของนักธุรกิจไทย แบรนด์ไทย หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

 

6 Minute English
รายการสอนภาษาอังกฤษโดย BBC Radio อัพเดตใหม่ทุกวันพฤหัสบดี ความยาวตอนละ 6 นาที ตามชื่อรายการเลย

 

Mission to the Moon
พ็อดคาสต์เกี่ยวกับธุรกิจ การตลาด การบริหารงาน และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต โดย “รวิญ หาญอุตสาหะ” เจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์ แค่เรื่องราวของตัวเอง ที่เขาพลิกโฉมเปลี่ยนลุคแบรนด์เก่าแก่ของครอบครัวก็น่าสนใจแล้ว

 

Nopadol’s Story:
เล่าเรื่องธุรกิจ หนังสือ และประสบการณ์ต่างๆ โดย “ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์” คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

แปดบรรทัดครึ่ง:
พ็อดคาสต์ความยาว 9-10 นาที เล่าเรื่องการสร้างนวัตกรรม การบริหารงาน การตลาด และแรงบันดาลใจจากทั่วทุกมุมโลก

Credit : Mercedes Me Magazine