TOP

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 21: จุดบรรจบของศิลปะ วัฒนธรรม และสุดยอดการแสดงระดับโลก

งานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ กำลังจะกลับมาสร้างความสุขให้กับผู้ชม
พร้อมจุดประกายให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่เปี่ยมไปด้วยสีสันและความรื่นรมย์อีกครั้ง
ด้วยสุดยอดการแสดงอันหลากหลาย ทั้งโอเปรา บัลเลต์ ดนตรี การเต้นรำ กายกรรม และอีกมากมาย

นับเป็นปีที่ 21 ของมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ โดยในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 กันยายน ถึง 23 ตุลาคม 2562 เป็นการคัดสรรการแสดงและดนตรีโดยสุดยอดศิลปินระดับตำนานและชื่อดังระดับนานาชาติมาเยือนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนรมิตช่วงเวลา 6 สัปดาห์ของการจัดงานเป็นช่วงเวลาแห่งความสุนทรีย์จากศิลปะการแสดง ตั้งแต่คลาสสิกไปจนถึงร่วมสมัย ที่ผู้รักในศิลปะไม่อาจพลาดได้ 

เปิดม่านงานมหกรรมฯ ด้วยการแสดงโอเปราคลาสสิกสองชุด คือ ตูรันโด (Turandot) และ รูซัลกา (Rusalka) จากคณะเอคาเตอรินเบิร์ก (Ekaterinburg Opera Theatre) คณะโอเปราชั้นนำที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย และยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมการแสดงที่สืบทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี คณะนี้ยังได้รับการการันตีด้วย 15 รางวัล “หน้ากากทองคำ” หรือ Golden Mask Awards (จากการเสนอชื่อเข้าชิง 83 ครั้ง) รางวัลนี้ถือว่า มีชื่อเสียงเทียบเท่ากับรางวัลออสการ์ของวงการภาพยนตร์ อีกทั้งยังได้รับการยอมรับว่า เป็นรางวัลที่ทรงเกียรติและเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีที่สุดในโลกศิลปะการแสดงอีกด้วย

Turandot (11 กันยายน) ผลงานการประพันธ์ของเกียโคโม ปุชชินี เป็นการแสดงชุดแรกที่คณะเอคาเตอรินเบิร์ก โอเปรา เธียเตอร์ นำเสนอในรูปแบบโอเปราสององก์ ขับร้องเป็นภาษาอิตาลี เรื่องราวเกิดขึ้นในอาณาจักรจีน เมื่อเจ้าชายคาลาฟตกหลุมรักเจ้าหญิงตูรันโด ผู้มีหัวใจเย็นชา เพื่อเอาชนะใจและได้แต่งงานกับเธอ เจ้าชายหนุ่มต้องไขปริศนาสามข้อ หากตอบผิดจะถูกประหาร แม้เจ้าชายจะผ่านบททดสอบ แต่เจ้าหญิงตูรันโดยังยืนกรานปฏิเสธการแต่งงาน เจ้าชายจึงยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกให้เจ้าหญิงผู้เป็นที่รัก หากเจ้าหญิงตูรันโดทราบชื่อของเขาก่อนรุ่งสาง เมื่อแสงอาทิตย์แรกมาถึงเจ้าชายจะถูกประหาร การแต่งงานจะไม่เกิดขึ้น

Turandot บนเวทีมหกรรมฯ จะโดดเด่นด้วยผลงานการแสดงของ เปาโล ลาดินโซเน นักร้องโอเปราระดับเสียงเทเนอร์ชาวอิตาลี ผู้รับบทเจ้าชายคาลาฟ เขาเป็นศิลปินผ่านประสบการณ์ด้านการแสดงมาแล้วมากมาย เคยฝากผลงานไว้บนเวทีโรงอุปรากรชั้นนำมากมายรวมทั้งที่ La Scala แห่งเมืองมิลาน และยังได้รับการยอมรับในฝีมือการแสดงด้วยหลากหลายรางวัลที่คว้ามาครองได้  ในการรับบทเจ้าชายคาลาฟครั้งนี้ เปาโลต้องใช้ความสามารถอย่างสูง แม้จะต้องขับขานบทร้องมากกว่าใครในบทร้องคู่ (main duet) เพลง “Nessun dorma” ซึ่งสร้างชื่อให้โอเปราชุดนี้ แต่เขาสามารถทำได้อย่างไร้ที่ติ ส่วนผู้รับบท ตูรันโด คือ โซยา เซเรรินา นักร้องเจ้าของระดับเสียงโซปราโน จากเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผู้ประสบความสำเร็จในฐานะนักร้องโอเปรา 

สำหรับอุปรากรชุดนี้ มีเรื่องน่าสนใจว่า ปุชชินีได้เสียชีวิตก่อนที่จะประพันธ์ได้เสร็จสมบูรณ์ หน้าที่จึงได้ถูกส่งต่อให้กับ ฟรังโก อัลฟาโน ซึ่งต่อเติมเรื่องราวไปตามโครงเรื่องที่ปุชชินีได้ร่างไว้ นอกจากนี้  Turandot ยังเต็มไปด้วยบทร้องเดี่ยวที่ชวนตะลึง และท่วงทำนองที่บีบคั้นอารมณ์ ซึ่งคณะเอคาเตอรินเบิร์ก โอเปร่าได้ถ่ายทอดทุกสิ่งออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

วันที่ 13 กันยายน คณะเอคาเตอรินเบิร์ก โอเปรา เธียเตอร์ จะนำเสนอการแสดงโอเปราจากผลงานการประพันธ์ของ อันโตนิน ดโวชาค เรื่อง รูซัลกา (Rusalka) โอเปราสามองก์ ขับร้องเป็นภาษาเช็ค จากโอเปราทั้งหมดสิบเรื่องที่ดโวชาคได้ประพันธ์ขึ้น Rusalka นับเป็นเรื่องเอกที่คณะโอเปราชื่อดังมากมายนำไปใช้แสดงอยู่เสมอ หาก Little Mermaid คือ มนต์เสน่ห์ Rusalka ย่อมเป็นความน่าหลงใหลอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเนื้อหาที่ไม่ซับซ้อน เมื่อพรายน้ำผู้เป็นอมตะเกิดตกหลุมรักเจ้าชายรูปงาม จึงเกิดความปรารถนาจะเปลี่ยนเป็นมนุษย์ ดโวชาคได้ประพันธ์ดนตรีที่มีท่วงทำนองที่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างโลกมนุษย์และโลกแห่งเทพนิยายออกจากกันอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ได้ทำการสำรวจโลกอันวุ่นวายของเทพนิยายสลาฟเรื่องนี้ไปด้วย ดนตรีของดโวชาคได้นำไปสู่แก่นแกนความแตกต่างระหว่างมนุษย์และสิ่งเหนือธรรมชาติที่ไม่อาจเชื่อมต่อกันได้ รูซัลกา คือ พรายน้ำสาวแสนโรแมนติก คิดบวก แต่เธอก็ต้องยอมรับความจริงในที่สุด บทรูซัลกาได้รับการถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบโดย เยเลนา พาฟโลวา บทเจ้าชายหนุ่มแสดงโดย อิลแกม วาเลียฟ ศิลปินเกียรติยศแห่งสาธารณรัฐตาตาร์สถาน และผู้ชนะเลิศรางวัล Golden Mask Jury Special Award 

ดนตรีประกอบโอเปราทั้งสองเรื่องเป็นผลงานการบรรเลงโดยวงออร์เคสตรา ภายใต้การควบคุมวงของ คอนสแตนติน ชูดอฟสกี วาทยกรเจ้าของรางวัลมากมาย และยังได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Financial Times ให้เป็นหนึ่งใน 25 ชาวรัสเซียที่น่าจับตาในฐานะหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนและสร้างความสั่นสะเทือนให้กับประเทศ 

วันที่ 16 และ 17 กันยายน เป็นการแสดงบัลเลต์ที่ตลกเสียดสีล้อเลียนโดยคณะ เลส์ บัลเลต์ ทร็อคคาเดโร เดอ มอนติ คาร์โล (Les Ballets Trockadero de Monte Carlo) จากนิวยอร์ก คณะนักบัลเลต์ชายล้วนที่นำเสนอการแสดงในรูปแบบของบัลเลต์คลาสสิกและระบำร่วมสมัย Les Ballets Trockadero de Monte Carlo หรือ  เดอะ ทร็อคส (The Trocks) ประสบความสำเร็จมานานนับทศวรรษจากการนำเสนอที่ล้อเลียน การแสดงบัลเลต์คลาสสิกในแบบฉบับของพวกเขา ซึ่งสร้างความสุขให้กับผู้ชมทุกเพศ ทุกวัยทั่วโลก และยังสร้างปรากฏการณ์บัตรชมการแสดงจำหน่ายหมดในทุกรอบการแสดงทั่วโลก ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส โปรตุเกส อิตาลี แคนาดา ญี่ปุ่น อเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ เยอรมนี ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน ไอร์แลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และอีกหลายประเทศ  

หนังสือพิมพ์ New York Times ได้เขียนถึงค่ำคืนอันแสนพิเศษกับการแสดงของ เดอะ ทร็อคส ไว้ว่า “เป็นการแสดงตลกของเหล่าดีวาที่แสนสนุก เป็นการแสดงอันยอดเยี่ยม เหนือการคาดเดา และน่าประทับใจยิ่ง เป็นความดีเลิศในแบบฉบับของ เดอะ ทร็อคส์  ที่ผู้ชมยากจะกลั้นเสียงหัวเราะ เมื่อนักเต้นชายพยายามจะพอยท์เท้าให้ได้บาลานซ์ ในบทบาทเจ้าหญิงหงส์, หญิงสาวผู้บอบบาง, พรายน้ำที่ไม่มีตัวตน ไปจนถึงบทของหญิงสาวในยุควิคตอเรีย ความเชี่ยวชาญในเทคนิคการเต้นอันน่าประทับใจของพวกเขายิ่งเน้นถึงความสำคัญของบัลเลต์คลาสสิกแบบดั้งเดิม”   

ค่ำคืนวันที่ 21 และ 22 กันยายน พบกับการแสดงชุด La Verità ของคณะกอมปาเญีย ฟินซี ปัสกา (Compagnia Finzi Pasca) จากสวิตเซอร์แลนด์ การแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจที่ได้ผ่านการพัฒนาในตลอดช่วง 35 ปีที่ผ่านมา ด้วยแรงบันดาลใจจากความเหนือจริงผสมผสานการแสดงกายกรรม, ละคร, ระบำ และดนตรีสู่การถ่ายทอดโดยเหล่านักร้อง, นักเต้น และนักกายกรรมผู้มากด้วยพรสวรรค์ คณะกอมปาเญีย ฟินซี ปัสกา เคยนำเสนอการแสดงผ่านสายตาผู้ชมมาแล้วใน 63 เมือง 24 ประเทศ และยังได้ฝากผลงานอันโดดเด่น กับการออกแบบการแสดงสำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 3 ครั้ง, การแสดงโอเปรา 5 รายการให้กับคณะชั้นนำของโลก (Mariinsky Theatre, Teatro San Carlo และ English National Opera), ออกแบบการแสดงให้กับ Cirque du Soleil สองการแสดง (Luzia ในปี 2016 และ Corteo ในปี 2005) ซึ่งผ่านตาผู้ชม 9 ล้านคนทั่วโลกในการทัวร์การแสดง 10 ปี ไปจนถึงการสร้างสรรค์การแสดงชุด Avudo ให้กับเมืองมอนทรีออล เป็นต้น หนังสือพิมพ์ El Mundo ของสเปน เรียกการแสดงของพวกเขาว่า “เป็นโชว์ที่ผสมผสานภาษแห่งกายกรรมเข้ากับภาพที่ราวกับอยู่ในภวังค์แห่งความฝัน” 

จากนั้น ได้เวลากลับสู่โลกแห่งจินตนาการของเทพนิยายกันอีกครั้ง กับการแสดงสองชุดจากคณะดิ อิมพิเรียล ไอซ์ สตาร์ส (The Imperial Ice Stars) จากสหราชอาณาจักร ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะคณะ สเก็ตที่ขยายขอบเขตของการเต้นระบำบนลานน้ำแข็งออกไปด้วยทักษะความเชี่ยวชาญและความแข็งแกร่งในแบบฉบับของนักกีฬา ผ่านความสร้างสรรค์และรูปแบบการเล่าเรื่องที่ทรงพลัง จนได้ฝากผลงานการแสดงต่อหน้าผู้ชมเกือบสามล้านคนในห้าทวีปทั่วโลก

 คณะดิ อิมพิเรียล ไอซ์ สตาร์ส จะเนรมิตเวทีของหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้กลายเป็นลานน้ำแข็งขนาดยักษ์ 14 ตัน เพื่อนำพาผู้ชมสู่ความเพลิดเพลินด้วยการแสดงชุด Swan Lake on Ice ในวันที่ 26 และ 27 กันยายน  และ Cinderella on Ice ในวันที่ 28 และ 29 กันยายน ศกนี้  

ดนตรีประกอบของสวอน เลค อันโด่งดังของไชคอฟสกี มีส่วนสำคัญที่ส่งให้การแสดงบนลานน้ำแข็ง ผ่านการออกแบบท่าเต้นใหม่ที่มีความโดดเด่นมากขึ้น เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความรักสุดคลาสสิก โดยนักสเต็ตมากกว่า 35 คน ซึ่งล้วนเป็นนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตในระดับแชมป์ทั้งระดับโลก ระดับยุโรป และระดับประเทศ พวกเขานำเสนอลีลาการแสดงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนกับท่าเต้นอันซับซ้อน ซึ่งเพิ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยยังไม่มีชื่อเรียกเสียด้วยซ้ำ โทนี เมอร์เซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ของคณะดิ อิมพิเรียล ไอซ์ สตาร์ส กล่าวว่า “การออกแบบท่าเต้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากท่วงทำนองดนตรีดั้งเดิม และความตั้งใจของไชคอฟสกีที่มีต่อสวอน เลค ผมต้องการให้ทั้งการตีความและการถ่ายทอดผ่านการแสดงบนลานน้ำแข็งมีความสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น จึงได้สร้างสรรค์การแสดงรูปแบบใหม่เป็นการแสดงบนลานน้ำแข็งกับฉาก แสงสี ในแบบการแสดงละครเวทีเต็มรูปแบบ” เช่นเดียวกันกับการแสดงชุด ซินเดอเรลลา ออน ไอซ์ ได้ดำเนินตามครรลองที่โทนี เมอร์เซอร์กำหนดเอาไว้ ตั้งแต่การตีความเนื้อหา ฉากสุดตระการตา และเครื่องแต่งกายที่สวยงาม ทั้งสองชุดการแสดงจึงออกมาเป็นการแสดงที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย 

ค่ำคืนของวันที่ 5 และ 6 ตุลาคม งานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ จะนำเสนอความละเมียดละไมของศิลปะการแสดงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน กับการแสดงชุด “หวัง จ้าวจวิน” (Lady Zhaojun) การตีความเรื่องราวคลาสสิกของหนึ่งในตำนานสตรีผู้เลอโฉมที่สุดในประวัติศาสตร์จีนให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ถ่ายทอดโดย หลีอวี้กัง (Li Yugang) นักร้องเจ้าของรางวัลมากมาย ผู้เป็นตำนานและยังเป็นศิลปินผู้ได้รับยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของจีน โดยมีแฟนคลับผู้ติดตามทั้งในจีนและประเทศต่างๆ ในเอเชียนับล้านคน สำหรับมหกรรมฯ ในปีนี้ หลีอวี้กังพร้อมด้วยนักร้อง นักแสดง และนักเต้นอีก 70 ชีวิต จะนำเสนอการแสดงชุดนี้นอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก ด้วยโปรดักชันสุดยิ่งใหญ่ ฉากและเครื่องแต่งกายสุดอลังการ มาพร้อมกับการแสดงซึ่งเชื่อมต่ออดีตเข้ากับยุคศตวรรษที่ 21 ได้อย่างลงตัว โดยผ่านศิลปะการแสดงอุปรากรจีนแบบดั้งเดิม ทั้งดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ในขณะเดียวกันก็ได้นำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเพื่อให้การนำเสนอเส้นทางชีวิตทั้งสุขและทุกข์ของจ้าวจวิน สาวงามผู้อุทิศตัวเพื่อความสงบสุขของราชวงศ์ฮั่น และอาณาจักรเซี่ยงหนูให้เต็มไปด้วยพลังอย่างน่าทึ่ง 

วันที่ 11 ตุลาคม เป็นช่วงเวลาแห่งความน่าประทับใจของการแสดงร่วมสมัยกับคณะอินโทรดันส  (Introdans) คณะบัลเลต์ร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ผลงานออกมามากที่สุดของเนเธอร์แลนด์ในฐานะคณะระบำชั้นแนวหน้าของประเทศ  คณะอินโทรดันสมีชื่อเสียงทั้งในเรื่องของการเป็นคณะที่เต็มไปด้วยนักเต้นผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ งานออกแบบท่าเต้นที่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการแสดงอันน่าประทับใจ สิ่งที่คณะอินโทรดันส แต่งเติมเข้าไปในศาสตร์แห่งบัลเลต์ ไม่ได้มีเพียงศิลปะของการเต้นร่วมสมัยเท่านั้น แต่ยังมีความสร้างสรรค์ความมีชีวิตชีวา เสน่ห์ที่น่าหลงใหล และรูปแบบการแสดงที่ท้าทายต่อแรงโน้มถ่วงรวมอยู่ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของเหล่านักออกแบบท่าเต้นชั้นนำที่ได้ร่วมกันรังสรรค์ผลงานที่แสนมหัศจรรย์ ซึ่งถูกนำไปถ่ายทอดผ่านภาษากายได้อย่างงดงามโดยศิลปินนักเต้นที่เปี่ยมด้วยทักษะชั้นสูง คณะอินโทรดันส มีความเชื่อว่า ภาษาของศิลปะการเต้นเป็นสากล สามารถสื่อสารกับคนรุ่นต่างๆ ให้  มาร่วมเคลื่อนไหวไปด้วยกันได้ ในงานมหกรรมฯ ครั้งนี้ คณะอินโทรดันสจะนำเสนอการแสดง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบท่าเต้นของสามนักออกแบบท่าเต้นชื่อดัง คือ “Polish Pieces และ Black Cake” โดย ฮันส์ ฟาน มาเนน,Ella” พร้อมดนตรีประกอบของเอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ โดยโรเบิร์ต แบทเทิล และ “In Memoriam” โดย ซีดิ ลาร์บิ เชอร์ครัวอี และทั้งหมดนี้คือ ความเบิกบานของศิลปะการเต้นโดยแท้จริง  

จากนั้นจะเป็นช่วงเวลาแห่งมนต์ขลังของดนตรีคลาสสิกกับคอนเสิร์ตคอนแชร์โต บูดาเปสต์ ซิมโฟนี ออร์เคสตรา (Concerto Budapest Symphony Orchestra) คืนวันที่ 13 ตุลาคม คณะซิมโฟนีออร์เคสตราชั้นที่มีอายุเก่าแก่ถึง 100 ปีจากฮังการี โดยมี อันดราส เคลเลอร์ ศิลปินผู้มากความสามารถทั้งในฐานะวาทยกร นักไวโอลินผู้มีชื่อเสียง และครูผู้ประสิทธิ์ประสาท รับหน้าที่ควบคุมวง เคลเลอร์ ยังนับเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ที่นำพายุคทองมาสู่คณะ ด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งจน Concerto Budapest Symphony Orchestra เติบโตในเชิงศิลปะดนตรีอย่างมากมาย ในค่ำคืนอันน่าประทับใจนี้ คณะ Concerto Budapest Symphony Orchestra จะนำเสนอผลงานคลาสสิกที่หาฟังและชมได้ยากในประเทศเรา ผลงานของนักประพันธ์ชื่อดัง ทั้ง Les Preludes ผลงานของฟรานซ์ ลิตซ์, Symphonic Fantasy – Francesca da Rimini ผลงานของปีเตอร์ ไชคอฟสกี และ Concerto for Orchestra ผลงานของเบลา บาต็อก

แล้วต่อกันด้วยความตระการตาของการแสดงบัลเลต์คลาสสิกจากคณะเครมลิน (Kremlin Ballet) คณะบัลเลต์ ซึ่งถือกำเนิด ณ พระราชวังเครมลินเมื่อเกือบสามทศวรรษก่อน และได้กลายเป็นคณะที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในความสำเร็จของวงการบัลเลต์รัสเซียนับจากนั้นเป็นต้นมา โดยบนเวทีมหกรรมฯ ครั้งนี้ คณะ Kremlin Ballet จะนำเสนอการแสดงถึงสามชุดด้วยกัน คือ The Hunchback of Notre Dame หรือ Esmerlada (15 ตุลาคม),  A Thousand and One Nights หรือ พันหนึ่งราตรี (17 ตุลาคม) และ Swan  Lake (19 ตุลาคม) 

การแสดงชุดแรก The Hunchback of Notre Dame หรือ Esmerlada มีเค้าโครงจากผลงานวรรณกรรมโรแมนติกของวิคเตอร์ อูโก  เรื่องราวเจ้าค่อมแห่งนอเตรอดาม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก ส่วน Thousand and One Nights สร้างสรรค์จากนิทานพื้นบ้านอาหรับอันเลื่องชื่อ และการแสดงชุดที่สาม Swan  Lake เป็นผลงานการประพันธ์ที่เลื่องชื่อที่สุดของไชคอฟสกี และยังเป็นที่สุดของสัญลักษณ์ความงามแห่งบัลเลต์รัสเซียอีกด้วย โดย Swan Lake ฉบับที่จะนำมาแสดงในครั้งนี้ ออกแบบท่าเต้นโดย อันเดร เปตรอฟ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของคณะ   ส่วนดนตรีประกอบการแสดงเป็นผลงานการบรรเลงของวงออร์เคสตราภายใต้การอำนวยเพลงโดย เยฟเกนี โวลินสกี    

ปิดฉากงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 21 ด้วยการแสดงจาก โฆเซ การ์เรรัส (José Carreras) นักร้องเสียงเทเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่ในโลกแห่งโอเปรา กับ Farewell Concert อำลากรุงเทพมหานคร โดยมีศิลปินผู้ร่วมบนเวที คือ เซลิน ไบร์น (Celine Byrne) นักร้องเสียงโซปราโนรุ่นใหม่ผู้มีชื่อเสียง ภายใต้การควบคุมและกำกับวงโดย เดวิด กิมิเนซ วาทยกรผู้มีความเข้าใจในเรื่องเสียงร้องอย่างถ่องแท้ 

การ์เรรัส คือตำนานนักร้องชาวสเปนผู้เต็มไปด้วยความสามารถ พรสวรรค และเสน่ห์ของการแสดงบนเวที ที่มากล้นจนไม่อาจบรรยายได้หมด เขาคือนักร้องเจ้าของหนึ่งรางวัลแกรมมี จากการได้รับชื่อเข้าชิงรางวัลนี้หลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสามนักร้องผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคผู้สร้างปรากฏการณ์ Three Tenors อีกด้วย ครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่สุดพิเศษที่ผู้ชมชาวไทยจะได้ชมการแสดงสดของสุดยอดศิลปินระดับโลกในค่ำคืนสุดท้ายของงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 21   

เพียงปีละครั้งเท่านั้นกับมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีระดับโลกที่หาชมได้ยาก ซึ่งได้รับการคัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน ผู้ที่หลงใหลในสุนทรีย์และความรื่นรมย์ของศิลปะการแสดงและดนตรี จึงไม่อาจพลาดได้ด้วยประการทั้งปวง    

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 21 กรุงเทพฯ ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บีกริมม์, บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย, โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค, บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน), เมเจอร์ซินีเพล็กซ์ กรุ๊ป, เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล, บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงวัฒนธรรม

บัตรเข้าชมทุกการแสดง เริ่มจำหน่ายแล้วที่ Thai Ticket Major: www.thaiticketmajor.com  สายด่วนโทร​ 02 262 3456 และเคาน์เตอร์ Thai Ticket Major ทุกสาขา 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ www.bangkokfestivals.com