TOP

ความปลอดภัย พลังงาน ความสุข-ความมหัศจรรย์ของแสงที่ส่งผลต่อชีวิตเรา

ลองคิดภาพตัวคุณยืนอยู่บนยอดตึก Empire State เบื้องหน้าคือฉากของนิวยอร์กทั้งเมืองที่สะท้องกับแสงสุดท้ายของวัน ก่อนที่ไฟตามถนนและอาคารจะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาแทนที่ในยามค่ำคืน “แสงมีคุณสมบัติอันน่าอัศจรรย์ เหมือนกับว่ามันมีพลังดึงดูดบางอย่าง” Hartmut Sinkwitz ผู้อำนวยการทีมออกแบบภายในของเมอร์เซเดส-เบนซ์กล่าว “โดยเฉพาะเวลากาลางคืน แสงสามารถปลุกเร้าอารมณ์ของเราได้ ทำให้เรารู้สึกได้ในแบบที่ไม่คิดมาก่อน” และคำกล่าวนี้เป็นจริง ไม่ว่าคุณจะอยู่บนยอดตึก Empire State หรือในรถยนต์ A-Class โฉมใหม่ก็ตาม

Sinkwitz และทีม จินตนาการถึงภาพและอารมณ์ของแสงเหล่านั้น เวลาที่พวกเขาออกแบบแสงให้กับรถยนต์ “เราต้องการที่จะสร้างโลกที่มีสีสัน และชีวิตชีวาในรถยนต์ แสงนี่แหละ ที่ช่วยให้เราทั้งอารมณ์ดีได้ และให้ความรู้สึกปลอดภัยได้ไปพร้อมกัน ไฟหน้าของรถที่สวนมา อาจทำร้ายสายตาของผู้ขับขี่ได้ แต่มันก็ช่วยบรรเทาลงได้เหมือนกัน หากภายในห้องโดยสารไม่มืดจนเกินไป”

แสงเป็นเรื่องของฟิสิกส์ และในแง่ของประสาทสัมผัสมนุษย์แล้ว มันเป็นตัวกระตุ้นที่ทรงพลังที่สุด เราต้องการมันในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีแสง ก็ไม่มีชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น แสงยังเป็นตัวช่วยในการสังเคราะห์วิตามินในร่างกาย รวมไปถึง ‘เซโรโทนิน’ ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขด้วย ในบางพื้นที่ แสงเป็นสิ่งหายากพอๆ กับน้ำในทะเลทราย เมื่อพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าหลังหน้าหนาวอันมืด และยาวนานในสแกนดิเนเวียนั้น ความอบอุ่นที่เฝ้ารอมาแสนนาน และพลังงานบางอย่างก็ทำให้ชาวยุโรปตอนใต้ ดำเนินชีวิตต่อไปได้

แต่เช่นเดียวกับทุกอย่าง แสงที่ไม่มากไปก็ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์จากธรรมชาติ ที่ทำให้ผิวหนังไหม้หรือก่อมะเร็ง หรือแสงจากหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายตาหรืออาการนอนไม่หลับ ดวงตาของเรานั้นอ่อนไหวมากกับแสงสีฟ้าที่มากระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นแสงสีฟ้าที่อยู่ในแสงธรรมชาติ หรือจากวัตถุในโลกดิจิทัลก็ตาม แสงสีฟ้านั้นจะไปลดปริมาณเมลาโทนิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนอนปกติของคนเรา นั่นทำให้เรานอนหลับไม่สนิท หรือตื่นมาแล้วรู้สึกว่าพักผ่อนไม่เต็มที่ หากก่อนนอนเราใช้มือถือเช็คอีเมล หรืออินสตาแกรม ซึ่งจริงๆ หลายบริษัทก็พยายามพัฒนาวิธีรับมือกับแสงสีฟ้า และอาการผิดปกติทางการนอนนี้ อย่างสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ก็จะมีโหมดกลางคืนที่จะช่วยลดแสงสีฟ้าลงจากหน้าจอ ซึ่งคุณก็ควรที่จะใช้มัน เพราะเราทุกคนต่างก็ต้องพยายามหาวิธีอยู่ร่วมกับแสงในโลกดิจิทัลอย่างทุกวันนี้

Artificial interior daylight
จริงๆ แล้วมันก็มีวิธีใช้แสงสีฟ้าให้เกิดประโยชน์อยู่บ้าง และทีมวิจัยจาก Daimler ก็พยายามพัฒนาเรื่องนี้อยู่ พวกเขาได้ลองคิดค้นระบบแสงที่ติดด้านในของหลังคารถบรรทุก ที่เรียกว่า ‘Daylight+’ ซึ่งทำหน้าที่ให้แสงที่เหมือนกับแสงธรรมชาติในเวลากลางวัน แต่สว่างและให้ความรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า เพื่อที่ว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และสมาธิให้กับคนขับรถ ซึ่งช่วยให้ท้องถนนมีความปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง

และด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ ก็มีวิธีมากมายในการสร้างแสงแบบที่ต้องการ Harald Widlroither ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาปัจจัยมนุษย์ (Human Factors Engineering) แห่ง Fraunhofer Institute ในเยอรมนี ซึ่งร่วมมือกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ บอกว่า “เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ มันช่วยให้เราควบคุมและจัดการแสงได้ง่ายขึ้น นั่นหมายความว่าเราสามารถเปลี่ยนความคิดให้เป็นความจริงได้มากขึ้น” ถึงอย่างนั้น เราก็ยังไม่สามารถวัดผลกระทบของแสงที่มีต่อผู้คนได้อย่างเป็นรูปธรรมอยู่ดี

Subjective effects
‘แสงสีฟ้า’ มีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกระตุ้น ขณะที่ ‘แสงสีแดง’ มักจะให้ความสงบ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน Isabel Schöllhorn จาก Fraunhofer Institute ผู้ดูแลแผนก Ergonomics & Vehicle Interaction บอกว่า “ข้อสังเกตทางจิตวิทยาก็อาจจะตรงกันข้ามกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้” งานที่เธอทำคือ การค้นหาวิธีจัดแสงให้ลดความเครียด ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องยากมากเมื่อต่างคนต่างก็มีความชอบ และอารมณ์ที่แตกต่างกันไป แต่เธอก็บอกว่า “แต่อย่างหนึ่งที่แน่นอนก็คือ คุณสมบัติของแสงที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ และบรรยากาศที่มันสร้างขึ้นนั้น มีความสัมพันธ์กัน ถ้าฉันเห็นเก้าอี้ที่ฉันชอบ กว่าฉันจะรู้สึกว่ามันนั่งไม่สบาย เวลาก็ผ่านไปนานแล้ว”

ยังมีบางมิติของแสงที่ยากจะตรวจสอบด้วยวิทยาศาตร์ นั่นก็คือเรื่องของอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นแรงจูงใจสำคัญในการทำงานของ Hartmut Sinkwitz และทีมของเขา พวกเขามีต้นแบบเป็นศิลปินอย่างที่ James Turrell ใช้แสงในการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเปลี่ยนใจของคนที่อยู่ในนั้นได้ หรือสถาปนิกอย่าง Norman Foster ที่ใช้แสงเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน และสร้างสถาปัตยกรรมที่มีแรงขับดันด้านอารมณ์ได้

No shadows without light
Hartmut Sinkwitz เห็นด้วยว่า “งานศิลปะที่สมบูรณ์แบบนั้น เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างแสงและเงา ศิลปินวาดภาพหลายคน ก็ใช้เทคนิคนี้ในการสร้างงานชิ้นเอกขึ้นมา” แสงและเงานี่เอง ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการออกแบบภายในของ A-Class โฉมใหม่มาตั้งแต่ต้น “เมื่อแสงและเงาปฏิสัมพันธ์กัน มันสามารถสร้างบรรยากาศอันน่าอัศจรรย์ในรถยนต์ให้เกิดขึ้นได้ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทรวดทรงต่างๆ และแสงประกอบกันได้อย่างลงตัว และช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน” และความลงตัวของแสงและเงานี่เอง ที่ทำให้ภายในห้องโดยสารสมบูรณ์แบบขึ้นมาได้

Sinkwitz เล่าถึงครั้งแรกที่เขาตระหนักในพลังของแสงว่า “เมื่อตอนที่ผมยังเด็ก พ่อแม่พาผมออกไปเดินเล่นยามค่ำคืนในเวนิส มันเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ดีที่สุดของผม ผมเห็นเงาของอาคารบ้านเรือนริมคลอง ซึ่งประดับประดาด้วยไฟ สะท้อนกับผืนน้ำระยิบระยับ มันทำให้ผมรู้สึกอบอุ่น และมีชีวิตชีวาเมื่ออยู่ตรงนั้น” และด้วยความประทับใจนี้ เขาก็พาลูกๆ ของเขาไปพบเห็นในสิ่งเดียวกัน นอกจากนี้ เขาก็ยังส่งภาพถ่ายที่บอกว่าเป็นแรงบันดาลใจมากๆ มาให้ลงนิตยสาร นั่นก็คือภาพชายหาดของเกาะ Usedom ในยามพระอาทิตย์ตก ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แสงสุดท้ายของวันมักทำให้เราผ่อนคลาย รวมถึงมีความสุขเสมอ